“TEMU” เป็นแอปพลิเคชันอีคอมเมิร์ซน้องใหม่ล่าสุดจากประเทศจีนที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด เปิดสาขาทั่วโลกแล้วมากกว่า 49 ประเทศภายในเวลา 2 ปี นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกปี ค.ศ. 2022 ในตลาดสหรัฐ ที่เมืองบอสตัน แมสซาชูเซตส์ โดยมีบริษัทแม่คือ Pinduoduo ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของยักษ์ใหญ่ค้าออนไลน์จีน หลังจากนั้นได้กระจายไปอีกหลายทวีป เอเชีย อเมริกา โอเชเนีย แอฟริกา รุกเข้าไปที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปีที่แล้ว (2023) ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ละตินอเมริกา แอฟริกาใต้ ต้นปีนี้ (2024) เป็นต้น
TEMU เข้ามาเปิดตัวกับกลุ่มลูกค้าชาวไทยแล้วเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นชาติที่ 3 ในอาเซียน ต่อจากมาเลเซียและฟิลิปปินส์ โดยใช้หลายกลยุทธดึงดูดใจลูกค้า ทั้งโปรโมชั่นราคาถูก (มาก) ส่งสินค้าจากโรงงานจีนตรงอย่างรวดเร็วฟรีและยืดเวลาคืนสินค้าได้ฟรีถึง 90 วัน เพราะตั้งเป้าต้องการเป็นโรงงานของโลก (Global Factory)
นอกจากจุดขายเรื่องสินค้าราคาถูกที่ส่งตรงจากโรงงานหรือพ่อค้าแม่ค้าชาวจีนถึงมือผู้ซื้อได้โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางแล้ว ยังมีประเด็นสำคัญที่ผู้บริโภคหลายคนยังไม่รู้แต่กระทบโดยตรงต่อผู้บริโภคและประเทศปลายทาง
คุณตฤณ วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทยและคณะกรรมการการค้าข้ามแดนจีน ถอดรหัสสิ่งที่อยู่เบื้องหลังในรายการมองจีนมุมใหม่ ทางไทยพีบีเอสพอดแคสต์ว่า ทำไม TEMU จึงประสบความสำเร็จได้เร็วและมีสิ่งใดที่ต้องรับมืออย่างเท่าทัน โดยกล่าวถึงกล่าวถึงเบื้องหลังการเติบโตของ TEMU ว่าเป็นเพราะการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพจากบริษัทแม่ และการใช้เทคโนโลยีเพื่อประหยัดต้นทุน
“ผมเคยคุยกับหนึ่งในผู้บริหารของ TEMU ตั้งแต่ประมาณ 6 ปีก่อน จุดเริ่มต้นคืออยากทำเว็บไซต์ให้คนทั่วไปสามารถซื้อขายยารักษาโรคได้ในราคาถูกและเหมาะสม โดยใช้หลักคิดคือ สินค้าที่ใกล้วันหมดอายุแต่ยังมีคุณภาพดี จะสามารถขายในราคาต่ำกว่าสินค้าผลิตใหม่ได้ ปกติคนที่จะลงทุนมักคำนึงถึงค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง แรงงาน ที่ดิน ค่าเช่า ฯลฯ แต่จะไม่ได้คิดถึงปัจจัยที่เป็นตัวแปรสำคัญอีกตัวหนึ่งคือ อายุของสินค้า ที่จะสามารถทำให้ต้นทุนถูกลงได้ เขาจึงใช้ตัวนี้มาเป็นแนวคิดหลักการตั้งต้นของ TEMU ”
มองจากมุมผู้ซื้อ น่าจะเป็นเรื่องดีเพราะได้สินค้าราคาถูก จ่ายค่าขนส่งต่ำหรือส่งฟรี แถมยืดระยะเวลขอคืนสินค้าหากมีปัญหาได้นานถึง 90 วัน แต่หากวิเคราะห์ให้ลึกกว่านั้น มีอีกหลายประเด็นสำคัญที่ซ่อนอยู่และผู้บริโภคไม่ได้ถูกบอกให้รู้ ซึ่งนายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทย ประมวลไว้โดยสรุป ดังนี้
1. TEMU ใช้ทุกวิธีการเพื่อลดต้นทุนต่ำที่สุด โดยสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นของที่มีวันใกล้หมดอายุหรือมีคุณภาพต่ำ เป็นการระบายสินค้าจากโกดังที่ถือว่ากำลังจะเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ การสั่งซื้อจากโรงงานผู้ผลิตโดยตรงในปริมาณมาก ๆ คราวเดียว จากบริการ Group Buying ผู้ใช้งานรวมกลุ่มกันซื้อจะทำให้ได้ราคาถูก ซึ่งผู้ขายจะชอบเพราะทำให้จัดการสินค้าในคลังได้อย่างคุ้มค่าแถมได้เงินกลับคืนมาด้วย
2. มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่คือ PINDUODUO ทั้งการบริหารสต็อคสินค้าและลดต้นทุนขนส่ง เป็นผู้บริหารจัดการขนส่งให้แทนผู้ขาย Supply Chain ทำให้แพลตฟอร์มได้คาร์บอนเครดิต จูงใจผู้ใช้บริการโดยคิดค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำหรืออาจมีการอุดหนุนผู้ขายหลากหลายรูปแบบ และช่วยฟากผู้ผลิตโดยดูแลระบบหลังบ้าน การชำระเงินและอื่น ๆ
3. สินค้าที่ขายในแพลตฟอร์มไม่ได้มาจากโรงงานในจีนประเทศเดียว แต่ TEMU มีพันธมิตรอีก 4 เจ้าที่เชี่ยวชาญหลายด้าน ได้แก่ ไต้หวัน ( อุปกรณ์มือถือ โทรศัพท์ สินค้าเทคโนโลยี Semi-conductor ต่าง ๆ ) เกาหลีใต้ (ด้านเสื้อผ้า สินค้าแฟชั่นและการการออกแบบ) ฮ่องกง (ด้านการเงินและการลงทุน) และสิงคโปร์ (ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์) ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่ทำไมแพลตฟอร์มสัญชาติจีนจึงบุกเข้าไปเปิดตัวนอกประเทศได้แห่งแรกในสหรัฐฯ แล้ว ประสบความสำเร็จอย่างง่ายดาย โดยมียอดดาวน์โหลดสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในสหรัฐฯ ทั้ง Google play และ Apple store
ผลที่เกิดขึ้นตามมาหลังจาก TEMU เข้าไปครองใจผู้บริโภคจำนวนมากในตลาดโลก ไม่เพียงทำให้คู่แข่งขันในตลาดการค้าออนไลน์เจ้าใหญ่เดิม ๆ ต้องสั่นสะเทือนเพราะเสียส่วนแบ่งการตลาดไป แต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและสังคมโดยรวมด้วย
สำหรับประเทศไทย ความกังวลใจอย่างมากของการรุกจากทุนจีนครั้งนี้คือ คุณภาพสินค้าและผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อยในประเทศ พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย จะแข่งขันไม่ได้ จนมีคำกล่าวว่าไทยจะกลายเป็นอีกหนึ่งตลาดระบายสินค้าคุณภาพต่ำหรือใกล้หมดอายุของจีนและจะมีขยะอีกจำนวนมหาศาลตกค้างในประเทศ นอกจากนี้ไม่เพียงแพลตฟอร์มออนไลน์ จีนยังเปิดช่องทางสินค้าออฟไลน์คือร้านค้าย่อยขายสินค้าราคาถูกที่เริ่มทยอยมาเปิดหน้าร้านให้ลูกค้าไปเลือกซื้อหาได้โดยตรงเป็นทางเลือกเพิ่มขึ้น นายกสมาคมการค้าดิจิทัลไทยเห็นว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้น ได้แก่
1. ซื้อแล้วไม่ได้ใช้
คนที่สั่งซื้อสินค้าราคาถูกเหล่านี้ อาจได้ของคุณภาพต่ำหรือใกล้หมดอายุ หรือใช้ไม่ได้จริง หากต้องการคืนสินค้า ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการส่งกลับที่บางครั้งค่าขนส่งอาจแพงกว่าราคาซื้อ หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งว่า “ซื้อใหม่คุ้มกว่า” กรณีส่งคืนก็อาจใช้ระยะเวลาที่นานขึ้นหรือไม่รับคืน
2. ปัญหาขยะจากการซื้อสินค้า
สินค้าใช้ไม่ได้แล้วเอาไปไหน ก็ต้องกลายเป็น “ขยะ” ทิ้งไป นั่นหมายถึงภาระด้านการจัดการขยะที่จะเป็นปัญหาระยะยาวก็ติดตามมา คุณตฤณเล่าว่า หนึ่งในประเด็นที่กำลังเป็นปัญหาในหลายชาติทั้งสหรัฐและยุโรปเวลานี้ สร้างความกังวลและไม่พอใจให้กับกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคือปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น จนมีคำกล่าวกันว่า “แนวโน้มปริมาณขยะสูงขึ้นในเขตเมืองหลายประเทศ เป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนการสั่งซื้อใน TEMU” คำถามสำคัญคือ สถานการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยด้วยหรือไม่?
3. กระแสเงินสดในมือผู้ประกอบการรายย่อยไทยหายไป
พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยและผู้ประกอบการไทย ได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ เนื่องจากผู้บริโภคสั่งซื้อตรงจากเจ้าของหรือโรงงานที่ผลิตเองในประเทศจีนผ่านแพลตฟอร์มจีนนี้โดยไม่ผ่านคนกลางอีกต่อไป นั่นหมายความว่ากระแสเงินสดที่จะหมุนเวียนในตลาดผู้ค้ารายย่อย หรือพ่อค้าคนกลางชาวไทยที่เคยมีรายได้จากการค้าออนไลน์จะหายไป อาจเกิดภาวะเงินฝืดและหนี้สินครัวเรือนตามมา หากว่ามีการใช้จ่ายโดยขาดความระมัดระวัง
ท่ามกลางสถานการณ์แข่งขันทางการตลาดที่ดุเดือดเข้มข้น คุณตฤณมองว่ายังมีโอกาสที่ผู้ประกอบการและผู้ค้าชาวไทยจะใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งมีช่องทางเพื่อส่งสินค้าเข้าไปขายยังตลาดจีนได้เช่นกัน จะมีโอกาสและช่องทางอย่างไรบ้าง
เรียบเรียงโดย โสภิต หวังวิวัฒนา และ ธนดล หวังระบอบ