



ฝ่ายสื่อเสียง สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส ได้รับความอนุเคราะห์จากหม่อมราชวงศ์แซมแจ่มจรัส รัชนี ทายาทของพระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หรือที่รู้จักในนามปากกา น.ม.ส. อนุญาตให้นำผลงานบทพระนิพนธ์ของ น.ม.ส. มาผลิตเป็นหนังสือเสียง เผยแพร่ในรายการ “ห้องสมุดหลังไมค์” ได้แก่นิทานเวตาลและจดหมายจางวางหร่ำ นอกจากนี้ยังมี ประมวลนิทานของ น.ม.ส. ที่อยู่ระหว่างการวางแผนผลิตเพื่อเผยแพร่ต่อไป
พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ มีพระนามเดิมว่า พระบวรวงศ์เธอพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส และทรงใช้พระนามแฝงในการนิพวรรณกรรมว่า "น.ม.ส." ซึ่งมาจากตัวอักษรท้ายคำของชื่อ รัชนี / แจ่ม / จรัส ทรงมีผลงานชิ้นสำคัญมากมาย อาทิ ประมวลนิทานของ น.ม.ส., จดหมายจางวางหร่ำ, นิทานเวตาล, บทร้อง"อโหกุมาร" และ เสภาสภา เป็นต้น
---------------------------------------
"นิทานเวตาล" เป็นเรื่องราวของ พระเจ้าวิกรมาทิตย์ ซึ่งต้องเดินทางไปนำตัว “เวตาล” จากต้นอโศกกลับมาให้โยคีเพื่อนำมาประกอบพิธี โดยมีข้อแม้ว่าตลอดการเดินทางพระองค์ต้องห้ามพูดหรือตอบโต้ใดๆ ไม่เช่นนั้นเวตาลก็จะกลับไปยังต้นอโศกเช่นเดิม ระหว่างทางเวตาลก็พยายามหน่วงเหนี่ยวโดยเล่านิทานเรื่องต่างๆ พร้อมตั้งคำถามเพื่อหลอกล่อให้ตอบจนได้นิทานมากถึง 24 เรื่อง พระเจ้าวิกรมาทิตย์ไม่ย่อท้อ อดทนและเพียรไปเอาตัวเวตาลกลับมาครั้งแล้วครั้งเล่าจนประสบความสำเร็จ
นิทานเวตาลหรือเวตาลปัญจวิงศติเป็นนิทานของอินเดียที่ได้รับยกย่องให้เป็นวรรณกรรมอมตะของโลกเรื่องหนึ่งที่โดดเด่นจนกระทั่งถูกนำไปแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย วรรณกรรมเรื่องนี้แฝงปรัชญาและแนวคิดที่มีคุณค่าทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรมและการดำเนินชีวิต
พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงเป็นผู้แปลฉบับภาษาไทยโดยอ้างอิงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษของเซอร์ริชาร์ด เบอร์ตัน จำนวน 10 ตอน จากทั้งหมด 25 ตอน พระองค์ทรงใช้สำนวนการแปลร้อยแก้วได้อย่างมีอรรถรสและสละสลวย จนกล่าวได้ว่าเป็นผลงานวรรณกรรมทรงคุณค่าเรื่องหนึ่งที่สามารถต้นแบบของการใช้ภาษาไทยได้เป็นอย่างดี
จดหมายจางวางหร่ำ ผลงานชิ้นนี้ น.ม.ส. ใช้กลวิธีการเขียนเป็นร้อยแก้วในรูปแบบการเขียนจดหมายจากพ่อส่งถึงลูกชื่อนายสนธิ์เพื่ออบรมสั่งสอน ชี้แนะแนวทางหลักการใช้ชีวิตและการทำงาน โดยเป็นการเขียนฝ่ายเดียวจากพ่อ จดหมายฉบับที่ 1-4 เขียนถึงลูกชายขณะที่เรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ จดหมายฉบับที่ 5-7 เขียนถึงนายสนธิ์เมื่อเดินทางกลับมายังกรุงเทพฯ แล้ว โดยสอดแทรกเนื้อหาสาระและอารมณ์ขันอยู่ในเรื่อง
กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ นิพนธ์จดหมายจางวางหร่ำในฐานะบรรณาธิการชั่วคราว วรรณกรรมในรูปแบบจดหมายนี้ถือว่าเป็นการสร้างสรรค์ผลงานเขียนแบบแปลกใหม่ในเวลานั้น ลงตีพิมพ์เป็นตอน ๆ ในหนังสือ ทวีปัญญา ติดต่อกันเดือนละฉบับ รวม 6 ฉบับ ต่อมาเมื่อหนังสือ “ทวีปัญญา” เลิกกิจการ พระองค์ก็ทรงนำฉบับที่ 7 เผยแพร่ในหนังสือ “เสนาศึกษา” แล้วมีการตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2478