“ผมมาจากเมียวดี” เป็นงานเขียนในรูปแบบบันทึกชีวิต ประสบการณ์ ความทรงจำ พื้นที่ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ ประเพณี ฯลฯ ของนพดล ใจเถิน ซึ่งมีพ่อเป็นคนไทย ส่วนแม่เป็นคนไทยที่ถือสัญชาติพม่า นภดล เกิดและเติบโต เรียนหนังสือในเมียนมาที่หมู่บ้านห้วยส้าน เมืองเมียวดี เมืองเศรษฐกิจใกล้ชายแดนไทย ซึ่งตั้งอยู่อีกฝั่งของแม่น้ำเมย ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ต่อมา ชวนพิศ นภตาศัย นักวิจัยอิสระจากจังหวัดเชียงใหม่ผู้เชี่ยวชาญด้านล้านนาคดีและคติชน ได้ลงพื้นวิจัยที่บ้านห้วยส้านและได้รู้จักกับนพดล เห็นถึงความสามารถรอบรู้จึงชักชวนให้มาช่วยเมื่อลงพื้นที่ทำวิจัย ต่อมาจึงแนะนำให้เขาฝึกฝนภาษาไทยผ่านการเขียนบันทึก จนออกมาเป็นหนังสือ “ผมมาจากเมียวดี” โดยชวนพิศเป็นบรรณาธิการ
หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานทางความคิดและความพยายามที่จะเขียนของเด็กชายคนหนึ่ง ที่หลงเข้ามาในดงนักวิชาการคติชน เขามีโอกาสได้ร่วมเดินทางกับทีมวิจัย ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการเก็บข้อมูล การสังเกตปัจจัยแวดล้อม แล้วหัดบันทึก นี่คือผลงานบันทึกเหตุการณ์ที่เขาได้พบมาตั้งแต่จำความได้ จนย่างเข้าสู่วัยรุ่น บน 2 แผ่นดิน ที่คล้ายกันในเรื่องวิถีวัฒนธรรม แต่ก็แตกต่างในระบบ นพดลเป็นภาพตัวแทนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัว การปะทะทางวัฒนธรรมระหว่างสองแผ่นดิน โลกาภิวัตน์อาจทำให้เราคล้ายกันในบางมุมแต่ก็ทำให้เรารักษาอัตลักษณ์เอาไว้อย่างเหนียวแน่น ชีวิตของนภดลที่ถ่ายทอดไว้ในเล่มนี้เป็นภาพสะท้อนที่ชวนศึกษาในหลายด้านทั้งการก้าวพ้นความเป็นรัฐชาติ ความเป็นอื่น การเป็นเขา การเป็นเรา การประสานตัวตนของนพดลในสองแผ่นดิน เป็นต้น