องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยไทยพีบีเอสพอดแคสต์ (Thai PBS Podcast), ศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active ร่วมกับ โครงการพลังงานสะอาดเข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ CASE (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia), องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ), สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงาน “แก้กับดักนโยบายพลังงานสะอาด สร้างโอกาสประเทศ” เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็น ชวนมองโอกาส และข้อจำกัด ระดมความคิดไปสู่ข้อเสนอเพื่อปลดล็อกนโยบายให้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สร้างโอกาสให้ประเทศได้มากขึ้น ใน “Policy Forum ครั้งที่ 17 : ปลดล็อกนโยบายพลังงานสะอาด สร้างโอกาสประเทศ” เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2567 ที่ Co-Working Space ไทยพีบีเอส
ดร.สิริภา จุลกาญจน์ : สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.สิริภา จุลกาญจน์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) ได้นำเสนอผลการศึกษา “ปลดล็อกโซลาร์บนหลังคาพาไทยถึงเป้าพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน” ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เองจากการติดตั้งโซล่าร์บนหลังคา หรือที่เรียกว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบกระจายศูนย์ (distributed PV) ปัจจุบันภาครัฐยังไม่มีการตั้งเป้าหมายโดยตรง หรือออกมาตรการทางนโยบายและแรงจูงใจที่เหมาะสมมาใช้เพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิตพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือแผน PDP 2024 ไม่ได้ระบุถึงทิศทางและนโยบายสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์บนหลังคา
“การผลิตไฟฟ้าใช้เอง มีบทบาทในการช่วยลดการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ ดังนั้นภาครัฐจำเป็นต้องเร่งเครื่องการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างจริงจัง รวมทั้งอาจเปิดให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่และโซลาร์พร้อมแบตเตอรี่ เพื่อทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 ได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงจากพลังงานสะอาดภายในประเทศ” ดร.สิริภา กล่าว
อีกหนึ่งกิจกรรมไฮไลต์ของงานมีนักวิชาการและตัวแทนผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ทำธุรกิจไฟฟ้าวิสาหกิจชุมชนและครัวเรือน มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงโอกาสและข้อจำกัดในการยกระดับไฟฟ้าพลังงานสะอาดของไทย ใน “Policy Forum ครั้งที่ 17 : ปลดล็อกนโยบายพลังงานสะอาด สร้างโอกาสประเทศ” นำโดย อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวถึงการร่างแผน PDP 2024 ว่า เมื่อเดือนที่ผ่านมา การพิจารณาร่างฯ ใกล้แล้วเสร็จ เหลือเพียงข้อเดียวที่ต้องทบทวนคือการผลิตไฟฟ้าด้วยไฮโดรเจน ทั้งที่ยังมีเสียงของภาคประชาชนอยากให้ปรับร่างใหม่ มีใจความสำคัญหลัก ๆ ให้ลดสัดส่วนการสร้างโรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่จากก๊าซและโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำลง และเปิดเสรีไฟฟ้าให้อย่างน้อยภาคเอกชนสามารถร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันเองได้ เป็นโอกาสดีที่อยู่ในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ถือเป็นช่วงหลุมอากาศมีโอกาสเสนอให้เปลี่ยนร่างแผน PDP 2024 ได้ใหม่ ดังนั้นที่ร่างแผน PDP 2024 ตั้งเป้าเพิ่มไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้เกินครึ่งภายในปี ค.ศ. 2037 จะทำได้จริงหรือไม่ และอีก 13 ปีต่อจากนี้ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 จะสำเร็จไหมในเมื่อแผนขับเคลื่อนระยะสั้นยังมีอุปสรรค
“ราคาค่าไฟที่เป็นธรรมสำหรับตลาดเสรีด้วยพลังงานสะอาดคือ ราคาค่าไฟที่เป็นไปตามกลไกตลาด รวมกับต้นทุนค่าความมั่นคง ในระยะยาวควรพัฒนาตลาดไฟฟ้าในบ้านเราอย่างไรเพื่อตอบสนองความสมดุลทางด้านพลังงานเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน” อารีพร กล่าว
เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center กล่าวว่า การวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่มในร่างแผน PDP 2024 พิจารณาจากสถิติชุดเดิมที่มีการพยากรณ์เกินจริง ทำให้ต้องจ่ายค่าความพร้อมเพื่อการสำรองไฟที่ผลิตได้มากจริง กลายเป็นต้นทุนของผู้ผลิตที่ผลักไปเป็นภาระของประชาชนในรูปแบบของค่าไฟที่แพงขึ้น อย่างไรก็ตามใช่ว่าข้อเสนอเหล่านี้จะทำไม่ได้ ต้องผลักดันต่อผ่านกระบวนการที่มี ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาล หรือผลักดันของภาคประชาสังคมโดยตรง
ขณะที่ นที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน กล่าวว่า ราคาไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องถูก แต่ต้องเหมาะสม การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในคำตอบ ขณะเดียวกันอยากให้มองทรัพยากรในประเทศด้วยว่า สามารถผลิตไฟฟ้าชีวมวลได้ แม้ราคาชีวมวลจะแพงกว่าโซลาร์ แต่ทำให้เกิดการจ้างงานคนในพื้นที่ ทำให้เกิดการอุดหนุนซื้อเศษสินค้าการเกษตร และทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชน 4 เท่า อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นต้นทุนที่ถูกกว่า เมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติ
ทั้งนี้ The Active ไทยพีบีเอส ได้รวบรวมข้อมูลการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ใน “Policy Watch” แพลตฟอร์มที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยสื่อกลางการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของประเทศที่เชื่อมโยงกับประชาชน สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://policywatch.thaipbs.or.th
ภายในงานยังมีการเปิดตัวรายการ “สะอาด Podcast” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยพีบีเอสพอดแคสต์ และ โครงการพลังงานสะอาดเข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ CASE (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia ) โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) เป็นรายการเกี่ยวกับการไขข้อสงสัยและเกร็ดความรู้เกี่ยวกับพลังงานสะอาด ออกสํารวจเรื่องพลังงานและสิ่งใกล้ตัวเรา ที่ทุกคนใช้กันทุกวันตลอด 24 ชม. ว่าทำไมหัวใจสําคัญของพลังงานเหล่านี้จึงต้อง “สะอาด” ดำเนินรายการโดย ใบหม่อน ทรรศิกา สิงห์ตุ้ย และ โบ้ท ชาคร เลิศนิทัศน์ ออกอากาศทุกเย็นวันศุกร์ ฟังได้ที่เว็บไซต์ https://www.thaipbspodcast.com/podcast/saatpodcast และแอปพลิเคชัน https://thaip.bs/AppThaiPBSPodcast